ประวัติวิทยาเขตตรัง​

ประวัติวิทยาเขตตรัง​

จังหวัดตรังได้มอบที่ดินจำนวน 686 ไร่ 57 ตารางวา ให้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ “ทุ่งกง” ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ตั้งแต่ปี 2524 โดยในระยะแรกมหาวิทยาลัยได้ใช้พื้นที่ดังกล่าวเป็นสถานีวิจัยทางการเกษตรของ คณะทรัพยากรธรรมชาติ วิทยาเขตหาดใหญ่ ในปีพ.ศ.2534 ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดตรังและอุปนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้มีหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่องขอให้ขยายวิทยาเขตไปที่จังหวัดตรัง เนื่องจากจังหวัดตรังเป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดทางภาคใต้ฝั่งตะวันตก และตัวจังหวัดยังเป็นศูนย์กลางของจังหวัดทางภาคใต้ตอนกลาง ประกอบกับจังหวัดตรังยังไม่มีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา จึงได้มีการประชุมปรึกษาหารือร่วมกับภาคราชการและเอกชนของจังหวัดตรัง ถึงความเป็นไปได้ในการขยายการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปที่จังหวัดตรัง ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ดำเนินการขยายการศึกษาไปที่จังหวัดตรัง ในหลักสูตรบริหารธุรกิจ สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งเป็นหลักสูตรของคณะวิทยาการจัดการ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนในชั้นปีที่ 1-2 ที่จังหวัดตรังในรายวิชาพื้นฐาน และเรียนชั้นปีที่ 3-4 ที่คณะวิทยาการจัดการ วิทยาเขตหาดใหญ่ในรายวิชาเฉพาะสาขา

 เริ่มเปิดสอนครั้งแรกในวันที่19 สิงหาคม 2534 และทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการในวันที่ 24 สิงหาคม 2534 ในปีพ.ศ. 2540 โครงการขยายการศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่จังหวัดตรังได้ปรับเปลี่ยนเป็นโครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรังมีสถานะเป็น วิทยาเขตสารสนเทศ และได้ย้ายที่ทำการจากอาคารชั่วคราวโรงเรียนเทศบาลวัดมัชฌิมภูมิ มาที่อาคารเอนกประสงค์โครงการจัดตั้งวิทยาเขตตรัง ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2542 ในปีการศึกษา 2546 ได้จัดตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ (Faculty of Commerce and Management) ผลิตบัณฑิตในหลักสูตรบริหารธุรกิจ 8 สาขาวิชาคือ สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ สาขาวิชาการบัญชี สาขาวิชาการประกันภัย สาขาวิชาระบบสารสนเทศทางการบัญชี สาขาวิชาการบัญชี(ต่อเนื่อง) สาขาวิชาการตลาด สาขาวิชาการจัดการการท่องเที่ยว และสาขาวิชาการพาณิชย์อิเล็คทรอนิกส์จากการที่วิทยาเขตตรังมีเป้าหมายที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันอุดมศึกษาชั้นนำระดับประเทศทางด้านสังคมศาสตร์ประยุกต์ ธุรกิจ และการจัดการ โดยมีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน จึงได้ดำเนินการพัฒนาระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ และบริการสารสนเทศโดยได้ติดตั้งบนเครือข่ายท้องถิ่นของวิทยาเขตตรัง (Campus Local Area Network) ซึ่งเป็นบริการด้านการสนับสนุนวิชาการประเภทหนึ่ง ภายในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์นอกจากจะใช้สำหรับการเรียนการสอนแล้ว นักศึกษาจะสามารถสืบค้นและหาประสบการณ์ในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ ในฐานะที่เป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูลบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (Internet) และใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการส่งงาน ติดต่อกับอาจารย์ผ่านระบบ E-learning ทั้งนี้นักศึกษายังสามารถสืบค้นข้อมูล และศึกษาในรายวิชาต่างๆได้ด้วยตนเอง(self-access) โดยวิทยาเขตตรังมีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับด้านการเรียนการสอน และสำหรับบริการแก่นักศึกษาในห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์เป็นจำนวนกว่า 250 เครื่อง และได้เปิดบริการระบบเครือข่ายไร้สาย(Wireless) ระยะแรกในพื้นที่ อาคารเรียน หอพักนักศึกษา อาคารสำนักงาน ห้องทำงานอาจารย์ และอาคารที่พักอาจารย์และบุคลากร นอกจากนี้เพื่อให้นักศึกษาได้มีความรู้ความสามารถด้านการใช้ภาษาได้อย่างถูกต้อง วิทยาเขตตรังได้ติดตั้งห้องปฏิบัติการทางภาษาจำนวน 4 ห้อง รวม 205 ที่นั่งภายในประกอบด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย สามารถเชื่อมต่อกับระบบเครือข่ายท้องถิ่น ระบบเครือข่ายภายใน และระบบอินเตอร์เน็ต ผ่านจอรับภาพประจำตัวของผู้ใช้งาน เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะทางด้านการฟัง การพูด และการอ่าน ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการเรียนภาษาต่างประเทศทุกภาษา ทั้งนี้นักศึกษาสามารถขอเข้าใช้ห้องปฏิบัติการเพื่อฝึกฝนตนเองได้อีกด้วย ในด้านการพัฒนาห้องสมุดวิทยาเขตตรังมุ่งพัฒนาสู่การเป็น E-library เพื่อสนองตอบต่อการใช้บริการที่ไม่จำกัดเวลาและสถานที่

โดยจัดให้มีการเข้าถึงทรัพยากรสารสนเทศอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็น E-book E-Journal สื่อภาพและเสียงด้วย Mutimedia On Demand รวมทั้งจัดให้มีการเชื่อมโยงเพื่อเข้าถึงระบบสืบค้นของฐานข้อมูลบรรณานุกรม ทรัพยากรสารสนเทศประเภท หนังสือ บทความวารสาร งานวิจัย วิทยานิพนธ์ มีการนำซอฟต์แวร์ของระบบห้องสมุดอัตโนมัติมาใช้ในการดำเนินงาน ทำให้ห้องสมุดสามารถให้บริการที่เน้นความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการ โดยสามารถยืมต่อหนังสือและจองหนังสือได้ทางระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ของ ห้องสมุด โดยใช้ระบบบริหารจัดการสารสนเทศด้วยระบบห้องสมุดอัตโนมัติ ได้พัฒนาการให้บริการเป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ในขณะเดียวกันก็มุ่งสู่การเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่จะนำไปสู่การเรียนรู้ ตลอดชีวิต โดยได้จัดโครงการค้นหายอดนักอ่านของวิทยาเขตตรังซึ่งเป็นกิจกรรมที่ได้จัด อย่างต่อเนื่อง และยังได้พัฒนาทรัพยากรสารสนเทศให้เป็นห้องสมุดและศูนย์สารนิเทศทางด้าน ธุรกิจและการจัดการที่ทันสมัย มีทรัพยากรสารสนเทศที่ให้บริการเป็นจำนวนกว่า 17,500 เล่ม โดยเป็นบริการร่วมกันของห้องสมุดทั้ง 5 วิทยาเขต และเชื่อมโยงการบริการกับห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษาอื่นๆ ให้ผู้ใช้บริการได้รับสารสนเทศที่หลากหลายและกว้างขวาง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน การให้บริการทั้งในด้านการเพิ่มจำนวนทรัพยากรสารสนเทศ และการจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้มีความพร้อมในการพัฒนาไปสู่การเป็นห้องสมุดเล็กทรอนิกส์ที่สมบูรณ์ ในด้านการพัฒนานักศึกษา วิทยาเขตตรังได้ส่งเสริมให้นักศึกษาได้รับการพัฒนาเชิงบูรณาการ ในด้านวิชาการและวิชาชีพ ด้านร่างกายและสติปัญญา ด้านสังคม ด้านจิตใจและอารมณ์ ด้านคุณธรรมและจริยธรรม นอกจากนี้ได้สนับสนุนให้นักศึกษาทุกคนได้เข้าร่วมกิจกรรมเสริมหลักสูตรตามความถนัดและความสนใจ ทั้งนี้เพื่อเป็นการบ่มเพาะให้นักศึกษาเป็นผู้ที่พร้อมไปด้วยความรู้ ความสามารถ มีวิจารณญาณในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีคุณธรรมจริยธรรม มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคมและประเทศชาติ สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข